Photo by Brandon Day on Unsplash

เผอิญช่วงนี้กลับมาไทย ได้ไปร่วมงาน DjangoGirls Bangkok มา และฟีดในเฟสบุ้คที่โผล่มาหาบ่อยที่สุดก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องพอดี

“ต้องเชียร์โปรแกรมเมอร์หญิงที่จะไปเป็นไอดอลอย่างไร ให้ไม่เข้าข่ายเหยียดเพศครับ”

กรณีไอดอลเนี่ย ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่อง Gender Bias ที่จริงจังกันมากในต่างประเทศ

หลังจากนั่งอ่านคอมเม้นต์ในโพสต์นั้น, ได้ไปงาน DjangoGirls, รวมถึงเห็นกระแสของน้อง Turtle (น้องโปรแกรมเมอร์อินเทิร์นที่สมัคร BNK48) ผมรู้สึกว่าควรจะเขียนเรื่อง Gender Bias นี้ให้ได้อ่านกัน

บางคนอาจจะเห็นด้วย บางคนอาจจะไม่เห็นด้วย แต่การได้รับรู้ว่าเรามีประเด็นในเรื่องนี้อยู่ น่าจะมีประโยชน์ต่อวงการโปรแกรมเมอร์บ้านเรา

ทำความรู้จักกับเรื่อง Gender Bias กับผลกระทบต่อวงการเทคโนโลยี

เรามาเริ่มจากคำนิยามของ Gender Bias ในพจนานุกรมต่างๆกันก่อน

“Unfair difference in the way women and men are treated” – Cambridge Dictionary

“Inclination towards or prejudice against one gender.” – Oxford Dictionary

หลักใหญ่ใจความ คือการเลือกปฏิบัติ (Unfair Treatment) หรือความลำเอียง (Prejudice) เพราะต่อเพศใดเพศหนึ่ง

ถึงบทความนี้เราจะพูดแค่กรณีผู้หญิงกับผู้ชาย แต่จริงๆแล้วเรามีปัญหาเดียวกันสำหรับกลุ่มของ LGBT ด้วย

ถ้าเราดูตามข้อมูลทางสถิติ เรามีอัตราส่วนผู้หญิงในสาขาจำพวก STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) น้อยกว่าผู้ชายอย่างชัดเจน ผมหาสถิติในไทยไม่ได้ ใกล้เคียงสุดที่หาเจอคือหน้า vii ของไฟล์นี้ ซึ่งไม่ได้แบ่งประเภทแบบเดียวกัน

แต่เมื่อลองมองแค่ในกลุ่มโปรแกรมเมอร์บ้านเรา อันนี้ชัดเจน ว่าเรามีโปรแกรมเมอร์หญิงน้อยกว่าผู้ชายมาก

ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากค่านิยมในสังคมเรา ว่าผู้หญิงไม่เหมาะกับงานทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือมีความสามารถด้อยกว่าทางด้านนี้ ผู้หญิงควรเรียนอักษร บัญชี ไม่ก็เป็นหมอ ไม่เหมาะกับการเรียนวิศวฯหรือคอมพิวเตอร์

นอกเหนือจากปริมาณ เรายังมีช่องโหว่ทางด้านอายุงานด้วย ลองนึกดูว่าตั้งแต่ทำงานมา เคยเจอโปรแกรมเมอร์หญิงระดับ Senior, Team Lead, หรือ Architect กันกี่คน แล้วลองเทียบจำนวนกับคนที่ผันตัวไปเป็น System Analyst หรือ Project Manager ดู เทียบกับฝั่งผู้ชายแล้วแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ในทางกายภาพ แน่นอนว่าแต่ละเพศก็จะต้องมีความแตกต่างกัน แต่อันนี้ก็อยากให้ทุกคนคิดกัน ว่าเพศที่แตกต่างกันมีผลต่อการเขียนโปรแกรมจริงๆรึเปล่า? หรือมันแค่เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวของเราเอง

ถ้าไม่ เราควรจะทำอย่างไร เพื่อให้ลด Bias นี้ในสังคมโปรแกรมเมอร์เรา?

ชมอย่างไรไม่ให้เหยียดเพศ (Sexist)

กลับไปที่คำถามในฟีดเฟสบุ้คในตอนเริ่มต้น

“ต้องเชียร์โปรแกรมเมอร์หญิงที่จะไปเป็นไอดอลอย่างไร ให้ไม่เข้าข่ายเหยียดเพศครับ”

กรณีไอดอลนี่ผมก็ไม่มีคำตอบเหมือนกัน

แต่ในที่ทำงาน ผมแนะนำว่า ถ้าคุณจะชมใครสักคน ชมที่การกระทำ ผลงาน หรือทักษะ อย่าใส่อะไรเกี่ยวกับเพศ หน้าตา หรือคุณสมบัติทางกายภาพเข้าไปในคำชม

ตัวอย่างที่ผมรู้สึกว่าไม่ดี ก็เช่น

“เค้าเป็นคนคนพิการที่เขียนโปรแกรมได้เก่งมาก”
“คุณเป็นผู้หญิงที่เขียนโปรแกรมได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา”
“แหม่ นอกจากสวย น่ารัก แล้วยังเขียนโปรแกรมได้อีก”

คำชมพวกนี้ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงครับ พอเราเอาเรื่องทางกายภาพเข้ามาใส่ด้วย คนฟังจะตีความได้หลากหลายมาก อย่างถ้ามีคนชมผมว่า “นอกจากหล่อแล้วยังเขียนโปรแกรมดีอีก” (ไม่เคยเกิดขึ้นจริง) ผมอาจจะ

  1. ดีใจ
  2. หงุดหงิดว่าความหล่อของผมเกี่ยวอะไรกับเรื่องความสามารถ?
  3. ไม่มั่นใจ ว่าเค้าชมเพราะเราเขียนโปรแกรมดีจริงๆ หรือแค่เพราะหล่อ

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เรามาลองมาเปลี่ยนวิธีชมใหม่

“พี่เค้าเป็นโปรแกรมเมอร์ที่มีวินัยมาก เขียนเทสต์ครอบคลุมกรณีต่างๆได้ครบถ้วนตลอด” - (การกระทำ)
“โปรแกรมที่น้องออกแบบมี UX ดีมาก พี่ชอบที่เอาฟังก์ชันที่ต้องใช้งานบ่อยๆแยกออกมาไว้หน้าแรก ทำให้ไม่ต้องกดหลายที” - (ผลงาน)
“ผมชอบการวิธีการออกแบบคลาสของคุณนะ แต่ละคลาสแยกจากกันและทำหน้าที่ชัดเจน การเลือกใช้ Builder Pattern ตรงนี้จะช่วยลดโอกาสเกิดบั๊กของผู้เรียกได้ด้วย” – (ทักษะ)

พอเราปรับเปลี่ยนวิธีการชมให้เฉพาะเจาะจงแบบนี้ นอกจากเราจะตัดเรื่อง Gender Bias ได้แล้ว คำชมจะดูจริงใจกว่าด้วย

เรื่องนี้สำคัญยังไง?

จุดประสงค์ของบทความนี้ คือให้อยากให้ผู้อ่านตระหนักว่าเรามี Gender Bias กันอยู่ แล้วเราไม่ควรปล่อยไว้เฉยๆโดยไม่ใส่ใจ

จริงๆแล้วยังมีเรื่องอะไรอีกเยอะมาก เช่นเรื่องเงินเดือน เรื่องการประเมินผลงาน เรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเวลาประชุม ฯลฯ

ตัวอย่างเรื่องคำชมก็เป็นแค่เรื่องเล็กๆเรื่องเดียวที่เราทุกคนช่วยกันพัฒนาได้

หลายๆคนอาจจะมองว่าเรื่องที่ไม่ต้องใส่ใจเลย แต่ไอ้เรื่องเล็กๆน้อยนี่แหละ ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ง่ายๆ สองเรื่องที่ผมอยากยกตัวอย่างคือ

เรื่องแรก เราไม่อยากทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกไม่สบายใจเพราะคำพูดของเรา โดยไม่ได้ตั้งใจ

หลายๆครั้ง เราก็พูดในสิ่งที่ทำร้ายคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ จริงไหมครับ? เรื่องของ Gender Bias เนี่ย ถ้าเราไม่มีสติ พูดอะไรโดยไม่ยั้งคิด บางทีเราอาจจะทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นโดยไม่รู้สึกตัวเลยก็ได้

เรื่องที่สอง เราอาจมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ทำให้ผู้หญิงหลายๆคนเขียนโปรแกรมกันมากขึ้น

ผมชอบการเขียนโปรแกรม ผมก็อยากให้คนอื่นชอบสิ่งเดียวกันกับผม (คิดว่าผู้อ่านก็น่าจะเหมือนกัน) ผมไม่อยากให้ใครสักคนมาบอกผมว่า “งานนี้คงไม่เหมาะกับหนูหรอก เพราะหนูเป็นผู้หญิง” หรือ “เขียนโปรแกรมเหรอ? เราอยากทำอะไรที่เหมาะกับผู้หญิงมากกว่า”

เราบ่นกันเรื่องวิกฤติโปรแกรมเมอร์ขาดแคลน ในขณะเดียวกัน เรากลับปล่อยให้ค่านิยมทางสังคมมากีดกันคนที่มีโอกาสเป็นโปรแกรมเมอร์ทางอ้อม

อันนี้อาจจะฟังดูเวอร์ไปหน่อย แต่เรื่องของค่านิยม ทัศนคติ และความเชื่อ มันซึมอยู่ลึก และมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของเรามากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆที่ยังอายุน้อย เค้าจะซึมซับความ Bias นี้ไปจากเราโดยอัตโนมัติ ประโยคนี้อาจจะมาจากลูกสาวเราในอนาคตก็ได้ ใครจะไปรู้

สำหรับฝั่งผู้หญิง (และ LGBT ทุกท่าน)

หากคุณรู้สึกอึดอัด เพราะรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติจากเพื่อนร่วมงานอย่างมี Gender Bias ลองหาโอกาสคุยกับเพื่อนร่วมงานของคุณแบบตัวต่อตัวดู หลายๆครั้งคนพูดไม่รู้ตัว และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีเลยด้วย อย่าปล่อยผ่านหากเกิดขึ้นบ่อยๆ ช่วยทำให้เค้ารู้ตัว และระวังเรื่องนี้มากขึ้น

ไม่ว่าการเตือนนี้อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ตาม อย่างน้อยเราก็มีโอกาสในการทำให้สิ่งต่างๆดีขึ้น

มนุษย์เราก็ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เพอร์เฟ็ค ผมเองก็มี Gender Bias เหมือนกัน เคยหลุดปากพูด Sexist Joke แบบไม่น่าให้อภัย เรื่องการเปลี่ยนแปลง Bias ในตัวคน เป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เหมือนการฝึกวิ่งมาราธอน

ท้ายที่สุด

การจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ต้องเริ่มจากการยอมรับว่ามันมีอยู่ และเริ่มแก้ไขจากจุดเล็กๆครับ ถ้าเราให้ความสำคัญ และระวังเรื่องนี้กันมากขึ้น ปัญหาเรื่องนี้ก็จะเบาบางลง

ส่วนตัว ผมไม่เชื่อว่าโลกนี้จะมีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง แต่ผมก็ไม่อยากให้ใครสักคนคิดว่าตัวเองเขียนโปรแกรมไม่ได้ หรือไม่สามารถเจริญก้าวหน้าในสาขานี้ เพียงเพราะว่าไม่ได้เป็นเพศชาย หรือเพราะข้อจำกัดบางอย่าง ที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก Bias ทางสังคม

เครดิต: ขอบคุณพี่เชียร์ที่ช่วยรีวิวบทความนี้ครับ